วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด


ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด


           การจัดการกับความเครียดที่ดีที่สุด ไม่ใช่การรักษาที่ปลายเหตุ แต่ควรย้อนกลับมาดูกันตั้งแต่ต้นเหตุว่าสิ่งใดคือจุดกำเนิดของการทำให้เกิดความเครียดจนอาจลุกลามไปสู่โรคร้ายต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ หรือไมเกรน โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดคือ สภาพจิตใจดังนั้นเมื่อคิดจะแก้ที่ต้นเหตุ เราก็ควรลองไขกุญแจเข้าไปในใจเพื่อดูว่าสภาพใจมีปัญหาด้านใดที่ต้องรักษาหรือป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดบ้าง

           ปัจจุบันความเครียดกลายเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตคนสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้แม้ว่าจะมีสุขภาพดีเพียงใด แต่เมื่อต้องเผชิญกับภาวะความเครียดอยู่เป็นประจำ ก็ยังคงทำให้เกิดปัญหาและความคับข้องใจอยู่เช่นเดิม ยกตัวอย่างปัจจัยหลักๆที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ ดังต่อไปนี้ 


1.การเงิน โดยผลจากการศึกษาส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานะทางการเงินคือสาเหตุหนึ่งของความเครียดสะสม ซึ่งผลพวงหนึ่งจากความเครียดแบบสะสมนั้นทำให้คนเรามีแนวโน้มที่จะรับประทานมากขึ้น และเป็นสาเหตุของโรคอ้วนตามมา


2.การทำงาน นับเป็นปัจจัยหนึ่งของความเครียดที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับปัจจัยทางด้านการเงิน และพบว่าเป็นปัจจัยหลักของความเครียดที่เกิดในชายและหญิงวัยทำงานอีกด้วย โดยไม่ว่าจะเป็นภาระหน้าที่ต่างๆ การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในองค์กรที่อาจเกิดความขัดแย้ง รวมไปถึงเรื่องของค่าตอบแทน และสิทธิต่างๆภายในที่ทำงาน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดสะสมได้ทั้งสิ้น


3.ครอบครัว ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความเครียดได้ เช่น ในบางครอบครัวที่สามีภรรยามีความไม่เข้าใจกัน เกิดการทะเลาะเบาะแว้งอยู่เป็นประจำ จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงและจบลงด้วยการหย่าร้าง ซึ่งนอกจากจะส่งผลโดยตรงกับเจ้าตัวเองแล้ว ยังส่งผลกับสภาพจิตใจของลูกด้วย 



4.ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อน ความรักระหว่างคู่รักหรือคู่สามีภรรยา ทุกคนล้วนต้องการความรักและอยากให้ความสัมพันธ์นั้นราบรื่น แต่เมื่อไม่สามารถจัดการให้เป็นดั่งที่ต้องการได้ หรือมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์ต้องยุติลง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาในเรื่องของเวลา การเงิน และอารมณ์ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ 



5.สุขภาพ และสวัสดิภาพความปลอดภัย ปัญหาด้านสุขภาพ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน เช่น ผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วน ก็อาจเกิดความเครียดจากความต้องการจะลดน้ำหนัก หรือแม้แต่ในรายที่ต้องการจะลดหรือเลิกบุหรี่ และแอลกอฮอล์ ก็อาจทำให้เกิดภาวะเครียด หงุดหงิดและซึมเศร้าได่ ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาสมดุลของระดับเคมีในสมอง จึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ต้น

           เมื่อทราบคร่าวๆ ถึงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความเครียดกันไปแล้ว ทีนี้ก็มาถึงวิธีการจัดการและรับมือกับความเครียดในรูปแบบต่างๆดูบ้าง โดยสิ่งสำคัญก็คือ คุณควรมีความเชื่อมั่นในตัวเอง และทำใจให้ยอมรับกับความจริง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมกันนี้ควรเรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ อย่างเช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือให้รางวัลกับตัวเองบ้าง เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หากต้องการดื่มกาแฟเพื่อความผ่อนคลาย ก็ควรเลือกกาแฟที่มีคุณภาพ หรือครีมเทียมสูตรไขมันต่ำ ที่สำคัญคือ ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ และท้ายที่สุดอย่าลืมให้ความสำคัญกับการพักผ่อนที่เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งหากมีการเรียนรู้และวางแผนแก้ไขที่ดีแล้ว คุณก็สามารถรับมือกับความเครียดได้แบบอยู่หมัด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น