วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความเครียด

             


           ความเครียด คือ สภาวะที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ และความรู้สึก ทั้งเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต หรือในบางครั้งอาจไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่มีผลทำให้เกิดความไม่สบายใจ กดดัน วิตกกังวล หวาดกลัว ไม่มีความสุข ซึ่งต่างก็เป็นผลในทางลบที่ทำให้เกิดอันตรายต่อคนเรา ดังนี้
     
       1.ด้านร่างกาย
              เมื่อเกิดความเครียดจะทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้เกิดอาการป่วยทางกายหลายอย่าง เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดหลัง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นโรคต่างๆ ตามมา ทั้งโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ความเครียดยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำเกิดโรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้ต่างๆ และยังเคยมีกรณีที่ผู้สูงอายุเกิดอาการช็อคเป็นลมเสียชีวิตเนื่องด้วยตกอยู่ในภาวะเครียดอย่างรุนแรง
     
       2.ด้านพฤติกรรม
             เมื่อต้องตกอยู่ในภาวะเครียดอย่างรุนแรงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีบางอย่างในสมอง ที่ส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ เช่น ซึมเศร้า ปลีกตัวออกจากสังคม บางรายอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายสิ่งของ ทำร้ายผู้อื่น หรือหากมีอาการหนักมากอาจถึงขนาดคิดสั้นฆ่าตัวตาย ทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น
     
       3.ด้านอารมณ์และจิตใจ
              ความเครียดทำให้อารมณ์สับสน หงุดหงิดโมโหง่าย วิตกกังวล มองโลกในแง่ร้าย และเมื่อมีปัญหาทางด้านอารมณ์สะสมไปนานๆ เข้า ก็จะส่งผลโดยตรงต่อสภาวะทางด้านจิตใจ ทำให้กลายเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านจิตประสาทได้ นอกจากนี้ ความเครียดยังทำให้ความสามารถทางด้านสติปัญญาทั้งในการแก้ปัญหาและทางด้านความจำลดลงอีกด้วย
     
        ดังนั้น เมื่อเรารู้แล้วว่าความเครียดส่งผลร้ายอย่างมากมายต่อตัวเราแล้ว หากเริ่มรู้สึกว่าตนเองเครียดก็วิธีกำจัดและคลายเครียดที่สามารถทำได้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ ดังนี้
     
       1.ระบายความในใจ
                 คือ การได้ปลดปล่อยอารมณ์ ความคิดและความรู้สึกออกมาภายนอก ผ่านการแสดงออกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
     
        - การพูด การที่เราได้พูดระบายความรู้สึกที่ขุ่นข้องหมองใจของเราเองกับคนสนิท เช่น คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง เป็นวิธีการคลายเครียดที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายลงแล้ว เราอาจได้รับคำแนะนำดีๆ ในการแก้ปัญหาชีวิตของเราจากคนที่รักและหวังดีกับเราก็ได้
     
        - การเขียน บางครั้งคนที่มีภาวะเครียดก็อาจไม่อยากพูดคุยกับใคร ดังนั้น อาจใช้การเขียนระบายความรู้สึกใส่กระดาษ ไดอารี หรือเดี๋ยวนี้บางคนก็เลือกที่จะแสดงความรู้สึกผ่านการเขียนทาง blog ทาง facebook ทาง club ใน webpage ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้ระบายความอัดอั้นแล้ว ยังอาจได้มิตรภาพหรือคำแนะนำดีๆ จากคนที่เราไม่เคยรู้จักก็เป็นได้
       

       2.ท่องเที่ยว 
            เมื่อเกิดความเครียด ไม่ควรเก็บตัวอยู่คนเดียวหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ วิธีแก้เครียดที่ได้ผลดีที่สุดอีกวิธีหนึ่ง ก็คือ การที่เราได้พาตัวเองออกไปพบเจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่ไม่จำเจ เช่น ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปดูนิทรรศการ ไปชมการแสดง ไปเดินเล่นสวนสาธารณะ ไปเดินดูข้าวของตามห้าง การที่เราได้ออกไปพบเจอสิ่งแปลกใหม่ๆ หรือได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติจะช่วยทำให้เรามีอารมณ์สดชื่น รู้สึกสนุกสนาน หายเหนื่อยล้าจากความเครียด


คำอธิบาย: http://www.manager.co.th/images/blank.gif
คำอธิบาย: http://www.manager.co.th/images/blank.gif
        3.ฟังเพลง 
             มีงานวิจัยมากมายที่สรุปตรงกันว่า การฟังดนตรีเป็นวิธีการคลายเครียดได้ดี แต่ให้เลือกบทเพลงหรือดนตรีที่มีลักษณะที่ช่วยคลายเครียดได้ดี เช่น เพลงบรรเลงแบบ Green Music คือ เพลงบรรเลงที่มีทำนองช้าๆ เบาๆ ที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น และมีเสียงธรรมชาติประกอบ เช่น เสียงน้ำไหล เสียงฝนตกเบาๆ เสียงนกร้อง ซึ่งจะช่วยทำให้คลายเครียดได้เป็นอย่างดีทีเดียว ช่วงเครียดไม่ควรเลือกฟังเพลงที่มีเนื้อหาทำร้ายความรู้สึก หรือจิตใจหรือเพลงที่มีทำนองดนตรีที่รุนแรงเพราะจะยิ่งทำให้เครียดมากขึ้นไปอีก

       

       4.ดูหนังดูละคร 
              ละคร หรือหนัง หรือรายการที่มีเนื้อหาเบาสมอง เช่น หนังตลก เกมโชว์ การ์ตูนเด็กๆ ช่วยทำให้ผ่อนคลายความเครียดได้ เพราะการได้ยิ้ม ได้หัวเราะ จะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา (เอนโดฟิน) ซึ่งจะไปช่วยให้อารมณ์ของเราสดชื่นและมีความรู้สึกเป็นสุขมากขึ้น
     
     

  5.ออกกำลังกาย
              การออกกำลังกายให้ประโยชน์หลายอย่างแก่เรา ทั้งให้ร่างกายแข็งแรง และกำจัดความเครียดได้ด้วย เพราะการออกกำลังทำให้เราหยุดนึกถึงเรื่องราวที่ทำให้เครียดและกังวลไปได้ชั่วขณะหนึ่ง และเมื่อใช้เวลากับการออกกำลังกายไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ความเครียดของเราค่อยๆ บรรเทาไปในที่สุด เพราะโดยปกติแล้วเมื่อคนเราเครียดกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายก็จะหดตัว ตึง และแข็ง ทำให้ไม่สบายกายด้วย เมื่อเราได้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่มันตึงอยู่นั้นก็จะคลายลง ทำให้รู้สึกสบายและมีความสุข จึงขอแนะนำว่าควรออกกำลังกายเบาๆ ไม่ควรออกกำลังกายเพื่อการแข่งขันหรือรุนแรงจนได้รับอันตราย เพราะนั่นอาจจะเป็นการเพิ่มความเครียดให้คุณอีกทางหนึ่งก็เป็นได้
       

       6.ทำงานอดิเรก 
            ส่วนใหญ่แล้วคนที่มีภาวะเครียดมักจะเป็นคนที่ต้องจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เช่น จดจ่อกับงาน กับลูก กับคนเจ็บป่วย กับหนี้สินและการเงิน กับสภาวะแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น การแก้เครียดจึงต้องละจากสิ่งที่จดจ่ออยู่นั้นไปให้ความสนใจกับสิ่งอื่นบ้าง โดยอาจหางานอดิเรกทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เช่น ทำงานศิลปะ ฝึกเล่นเครื่องดนตรี ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ไปนวดหน้านวดตัว แต่งห้องใหม่ งานอดิเรกเหล่านี้สามารถสร้างความสุขให้แก่เราได้ เพราะนอกจากจะทำให้เราเพลิดเพลินแล้ว การได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิตจะทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองด้วย
       

       7.ทำความดี 
             ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทานหรือทำการสงเคราะห์ เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความสงบสุขให้แก่จิตใจของเรา บางครั้งคนเราเกิดความเครียดเพราะการงานไม่สำเร็จตามเป้าหมาย หรือคิดว่าตัวเองด้อยค่าไม่มีสิ่งต่างๆ เหมือนคนอื่นเขา หรือถูกทำร้ายทางร่างกายหรือจิตใจมา การที่ได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นโดยเฉพาะทำกับคนที่เขาบกพร่อง เช่น คนพิการ คนยากจน คนไร้ญาติขาดมิตร ไร้ที่อยู่อาศัย จะทำให้เราได้เห็นมุมมองอื่นๆ ในชีวิตที่เราไม่เคยเห็นว่าไม่มีใครสักคนในโลกนี้ที่จะเกิดมาสมบูรณ์พร้อมหรือมีความสุขตลอดเวลา คนทุกคนย่อมมีปัญหาที่ต้องเผชิญและฝ่าฟันกันไปให้ได้ทุกคน ดังนั้น หากเครียดหรือมีปัญหาเมื่อใดก็ให้ทำความดีต่อผู้อื่นเพราะจะทำให้เกิดความสุขใจทั้งต่อตัวเราและต่อคนที่เราทำดีด้วย
     
        ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ดังนั้น อย่ากลัวที่จะเครียด แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกว่าเราเครียดแล้วก็ควรต้องรีบที่จะควบคุมและหาทางเอาความเครียดออกไปจากชีวิตของเราให้ได้อย่างเร็วที่สุด เพราะมันไม่มีประโยชน์กับเรามีแต่จะยังให้เกิดโทษต่างๆ ตามมามากมาย จงเข้มแข็งและอย่ายอมแพ้มัน เมื่อคุณเอาชนะมันได้แล้วพื้นที่ความสุขในชีวิตของคุณจะกลับคืนมา 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น