วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

11 ความเครียดของเด็กแอดมิชชั่น





1.      กลัว” สอบแอดมิชชั่นไม่ติด
เป็นความกลัวพื้นฐานเลย ไม่ว่าจะไปถามเพื่อนๆ รุ่นพี่คนไหนๆ คำตอบก็จะได้เหมือนๆกันว่า กลัวที่จะแอดไม่ติด เพราะเวลาถึงจุดๆนั้นแล้ว คงไม่มีใครสามารถมั่นใจได้ว่า ตัวเองจะแอดติดรึเปล่า
เนื่องจากว่า ปีๆหนึ่ง มีนักเรียนสมัครสอบแอดมิชชั่นกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ แต่มหาวิทยาลัยรัฐรับได้แค่ไม่กี่หมื่นคนเอง จำนวนตัวเลขตรงนี้มันคงกดดันให้หลายๆคนเครียดจนทำอะไรไม่ถูกเลยก็ได้

2.      กลัว” อ่านหนังสือไม่ทัน
พอเทียบวันที่เหลือ กับจำนวนหนังสือที่ต้องอ่าน แค่เห็นก็แทบจะสลบแล้ว เวลาสอบ เชื่อว่า หลายๆคนคงไม่อ่านแค่ในตำราเรียนอย่างเดียวหรอก ถ้าอ่านแค่ในตำรา เราก็ไม่สามารถไปสู้เพื่อนๆจากทั่วประเทศได้แน่นอน ทั้งหนังสือเก็งข้อสอบ หนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ จะถูกมาสุมๆกันในช่วงใกล้สอบแบบนี้ เห็นแล้วก็น่าท้ออยู่เหมือนกันที่สำคัญ ถ้าเฉลี่ยแล้วต้องอ่านกันวันละ 50 หน้า หลายคนคงแทบกระอักเลือดกันเลยทีเดียว หลายคนเริ่มเลิกเที่ยว เอาเวลามาทุ่มให้กับการอ่านหนังสือ ถ้าหนักคงถึงขั้นไม่กินข้าวกินปลากันเลยทีเดียว สังเกตได้ง่ายๆเลย ช่วงนี้เพื่อนคนไหนซูบไป หรือน้ำหนักเกิน สันนิฐานได้เลยว่า เขากำลังทั้งใจอ่านหนังสืออย่างหนักอยู่ บางคนอ่านแบบข้ามวันข้ามคืน ไม่ได้พักผ่อนเลย สมองก็จะล้าเกินไป บางทีอาจจะต้องหามส่งโรงบาล

3.      กลัว” เกรดในโรงเรียนออกมาไม่ดี
กลายเป็นความกดดันที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ถึงแม้เราจะตั้งใจอ่านหนังสือเตรียมสอบมากมายแค่ไหน ถ้าเกรดได้ออกมาไม่ดีก็ต้องจอดเหมือนกัน แต่ที่สำคัญ คะแนนในห้องส่วนใหญ่มาจากการส่งงานแทบทั้งนั้น เรียกได้ว่า ถ้าไม่ส่งงานเลย เกรดไม่ดีก็ไม่มีทางออกให้แน่นอน
ถ้าหากเรากังวลแต่ทำงานส่ง เราก็จะไม่มีเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบ ที่อาจจะมีครั้งเดียวในชีวิตของเรา
ถ้าหากเรามัวแต่อ่านหนังสือเตรียมสอบ แล้วไม่ได้ส่งงาน 20ตรงส่วนนี้ (GPAX) อาจจะไม่สามารถฉุดคะแนนเราขึ้นมาได้เลยก็ได้ เรียกได้ว่า เครียดทั้ง 2 ทางเลย
  
4.      เครียด” กิจกรรมในโรงเรียน
กิจกรรมในช่วงนี้ไม่ค่อยอยากให้ทำ ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำใช่รึเปล่า?
มันเป็นส่วนสำคัญก็จริงสำหรับคนที่ยังหาตัวเองไม่เจอ แต่พอถึงเวลาแบบนี้แล้ว เชื่อว่าหลายๆคนคงอยากอยู่บ้านอ่านหนังสือมากกว่า ที่สำคัญกิจกรรมบางอย่าง ถ้าทำก็ต้องทำออกมาให้ดีด้วย โดยเฉพาะกิจกรรมที่เชิดหน้าชูตาให้กับโรงเรียน เวลาในการอ่านหนังสือก็จะถูกแบ่งให้กับกิจกรรมมากขึ้น ถ้าจะทำกิจกรรมก็ทำได้ครับ แต่คงจะต้องเพลาๆลงบ้าง

5.      กลัว” ระบบการสอบ
ยิ่งในระบบใหม่นี้ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะฉะนั้นจะคิดจะทำอะไรก็ต้องระมัดระวังดีๆ

6.      กลัว” เพื่อนๆขยันกันมากขึ้น
ในเวลาใกล้สอบแบบนี้ เพื่อนๆหลายคนก็เริ่มจะลงมืออ่านหนังสือกันอย่างบ้ากระหน่ำกันเลยทีเดียว หากเราไปคุยกับเพื่อนๆช่วงนี้ คงมีแต่คำถามที่ว่า “อ่านหนังสือไปถึงไหนแล้ว” นั่นจะยิ่งทำให้เรากดดันหนักขึ้นไปอีก เพราะเรารู้ว่า เพื่อนเราอ่านถึงขนาดนี้แล้วหรอ แต่เรายังไม่ถึงไหนเลย ยิ่งทำให้เราเครียดยิ่งขึ้นไปอีก ช่วงนี้ หลายคนถึงกับมองเพื่อนเป็นคู่แข่งตัวฉกาจกันเลยทีเดียว

7.      เครียด” เรื่องเรียนพิเศษ
ยิ่งมีเวลาน้อย การกวดวิชากลายเป็นเรื่องจำเป็นไปซะแล้ว สำหรับวัยรุ่นยุคนี้
แน่นอนว่า การกวดวิชาแต่ละครั้ง ไม่ใช่ถูกๆเลย โดยเฉพาะ สำหรับคอร์สเตรียมสอบแอดมิชชั่น ทุกที่เริ่ม Start กันที่ 4000 บาทแทบทั้งนั้น เรียกได้ว่า อยากเรียนให้ทัน คงจะต้องลงทุนกันมากหน่อย
ในกรณีแบบนี้มันจะเครียดกันทั้ง 2 ฝ่าย นั่นก็คือ ทั้งเรา ที่เรียนหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน และพ่อแม่ ที่ส่งเงินให้เราเรียนพิเศษ

8.      เครียด” ที่ต้องสอบพร้อม เด็กเทพ กับ เด็กซิ่ว
สำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆแล้ว เราอาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการเรียนที่ดีเลิศขั้นเทพอย่างเด็กหลายๆคน แน่นอนว่า ถ้าเราหวังคณะดีๆเอาไว้ คงจะต้องเข้าชิงกับเด็กขั้นเทพซะ โดยเฉพาะคณะที่เรียนยากๆอย่างแพทย์ ซึ่งมีแต่เทพเรียนกัน เพราะฉะนั้น คนที่อยากเป็นหมอคงจะต้องพยายามกันให้มาก มากจนถึงมากที่สุด มากกว่าคนที่คิดว่ายังไงก็สอบติดอยู่แล้ว
เด็กซิ่วก็ถือว่าน่ากลัวพอๆกัน เพราะจะเป็นการเพิ่มประชากรที่สอบแอดมิชชั่นแต่ละปีให้สูงขึ้น แต่ก็อย่าไปถือโทษโกรธเคืองอะไรเลยนะครับผม ไม่ใช่เพราะว่าเขาจะมาแย่งที่นั่งเราหรอก อยากให้เข้าใจว่า คนเราย่อมต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองทั้งนั้น การที่เขาจะซิ่วก็เป็นสิทธิของเขา เราพยายามในส่วนของเราให้ดีที่สุดก็พอ

9.      เครียด” สอบตรง โควตา
มีหลายคนที่ไม่มั่นใจกับระบบแอดมิชชั่นก็แห่กันมาสอบตรงเป็นจำนวนมาก การรับตรงนั้นสามารถรับนักเรียนได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นอัตราการแข่งขันมันก็จะสูงขึ้นกว่าแอดมิชชั่น ถ้าสอบติดก็โล่งไป ถ้าสอบไม่ติดก็คงต้องมาเครียดกันต่อ
ที่สำคัญมีการจัดสอบตรงก่อนสอบแอดมิชชั่นเสียอีก เรียกได้ว่า คงต้องขยันกันตั้งแต่เนิ่นๆ

10.  เครียด” สอบสัมภาษณ์
คงไม่มีใครที่รับตรงได้แล้ว แต่ต้องยืนคอตก เพราะตกสอบสมภาษณ์ใช่รึเปล่า?
ที่เครียดก็คือ เราจะพูดยังไงให้เขาอยากรับเราเข้าเรียน ต้องจัด Port ยังไงให้น่าสนใจ ทำยังไงก็ได้ให้เขาสนใจในตัวเรา ซึ่งก็ถือว่ากดดันอยู่เหมือนกัน เมื่อต้องอยู่ต่อหน้าคณาจารย์ที่มารุมสัมภาษณ์เรา

11.  เครียด” กับผลคะแนน
ถึงแม้ว่าคะแนนสอบของตัวเองจะออกมาแล้ว แต่ก็ไม่มีใครมั่นใจได้เลยว่า คะแนนของเราจะมากพอที่จะเข้าเรียนต่อได้รึเปล่า เพราะขณะที่เราได้คะแนนเท่านี้ ก็ยังมีอีกหลายคนที่ได้คะแนนมากกว่าเรา ไม่แปลกหรอกที่หลายๆคน ถึงแม้ว่าจะได้คะแนนเยอะ แต่ก็ยังกังวลไม่หาย



ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด


ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด


           การจัดการกับความเครียดที่ดีที่สุด ไม่ใช่การรักษาที่ปลายเหตุ แต่ควรย้อนกลับมาดูกันตั้งแต่ต้นเหตุว่าสิ่งใดคือจุดกำเนิดของการทำให้เกิดความเครียดจนอาจลุกลามไปสู่โรคร้ายต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ หรือไมเกรน โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดคือ สภาพจิตใจดังนั้นเมื่อคิดจะแก้ที่ต้นเหตุ เราก็ควรลองไขกุญแจเข้าไปในใจเพื่อดูว่าสภาพใจมีปัญหาด้านใดที่ต้องรักษาหรือป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดบ้าง

           ปัจจุบันความเครียดกลายเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตคนสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้แม้ว่าจะมีสุขภาพดีเพียงใด แต่เมื่อต้องเผชิญกับภาวะความเครียดอยู่เป็นประจำ ก็ยังคงทำให้เกิดปัญหาและความคับข้องใจอยู่เช่นเดิม ยกตัวอย่างปัจจัยหลักๆที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ ดังต่อไปนี้ 


1.การเงิน โดยผลจากการศึกษาส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานะทางการเงินคือสาเหตุหนึ่งของความเครียดสะสม ซึ่งผลพวงหนึ่งจากความเครียดแบบสะสมนั้นทำให้คนเรามีแนวโน้มที่จะรับประทานมากขึ้น และเป็นสาเหตุของโรคอ้วนตามมา


2.การทำงาน นับเป็นปัจจัยหนึ่งของความเครียดที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับปัจจัยทางด้านการเงิน และพบว่าเป็นปัจจัยหลักของความเครียดที่เกิดในชายและหญิงวัยทำงานอีกด้วย โดยไม่ว่าจะเป็นภาระหน้าที่ต่างๆ การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในองค์กรที่อาจเกิดความขัดแย้ง รวมไปถึงเรื่องของค่าตอบแทน และสิทธิต่างๆภายในที่ทำงาน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดสะสมได้ทั้งสิ้น


3.ครอบครัว ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความเครียดได้ เช่น ในบางครอบครัวที่สามีภรรยามีความไม่เข้าใจกัน เกิดการทะเลาะเบาะแว้งอยู่เป็นประจำ จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงและจบลงด้วยการหย่าร้าง ซึ่งนอกจากจะส่งผลโดยตรงกับเจ้าตัวเองแล้ว ยังส่งผลกับสภาพจิตใจของลูกด้วย 



4.ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อน ความรักระหว่างคู่รักหรือคู่สามีภรรยา ทุกคนล้วนต้องการความรักและอยากให้ความสัมพันธ์นั้นราบรื่น แต่เมื่อไม่สามารถจัดการให้เป็นดั่งที่ต้องการได้ หรือมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์ต้องยุติลง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาในเรื่องของเวลา การเงิน และอารมณ์ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ 



5.สุขภาพ และสวัสดิภาพความปลอดภัย ปัญหาด้านสุขภาพ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน เช่น ผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วน ก็อาจเกิดความเครียดจากความต้องการจะลดน้ำหนัก หรือแม้แต่ในรายที่ต้องการจะลดหรือเลิกบุหรี่ และแอลกอฮอล์ ก็อาจทำให้เกิดภาวะเครียด หงุดหงิดและซึมเศร้าได่ ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาสมดุลของระดับเคมีในสมอง จึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ต้น

           เมื่อทราบคร่าวๆ ถึงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความเครียดกันไปแล้ว ทีนี้ก็มาถึงวิธีการจัดการและรับมือกับความเครียดในรูปแบบต่างๆดูบ้าง โดยสิ่งสำคัญก็คือ คุณควรมีความเชื่อมั่นในตัวเอง และทำใจให้ยอมรับกับความจริง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมกันนี้ควรเรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ อย่างเช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือให้รางวัลกับตัวเองบ้าง เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หากต้องการดื่มกาแฟเพื่อความผ่อนคลาย ก็ควรเลือกกาแฟที่มีคุณภาพ หรือครีมเทียมสูตรไขมันต่ำ ที่สำคัญคือ ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ และท้ายที่สุดอย่าลืมให้ความสำคัญกับการพักผ่อนที่เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งหากมีการเรียนรู้และวางแผนแก้ไขที่ดีแล้ว คุณก็สามารถรับมือกับความเครียดได้แบบอยู่หมัด



ความเครียด

             


           ความเครียด คือ สภาวะที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ และความรู้สึก ทั้งเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต หรือในบางครั้งอาจไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่มีผลทำให้เกิดความไม่สบายใจ กดดัน วิตกกังวล หวาดกลัว ไม่มีความสุข ซึ่งต่างก็เป็นผลในทางลบที่ทำให้เกิดอันตรายต่อคนเรา ดังนี้
     
       1.ด้านร่างกาย
              เมื่อเกิดความเครียดจะทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้เกิดอาการป่วยทางกายหลายอย่าง เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดหลัง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นโรคต่างๆ ตามมา ทั้งโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ความเครียดยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำเกิดโรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้ต่างๆ และยังเคยมีกรณีที่ผู้สูงอายุเกิดอาการช็อคเป็นลมเสียชีวิตเนื่องด้วยตกอยู่ในภาวะเครียดอย่างรุนแรง
     
       2.ด้านพฤติกรรม
             เมื่อต้องตกอยู่ในภาวะเครียดอย่างรุนแรงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีบางอย่างในสมอง ที่ส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ เช่น ซึมเศร้า ปลีกตัวออกจากสังคม บางรายอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายสิ่งของ ทำร้ายผู้อื่น หรือหากมีอาการหนักมากอาจถึงขนาดคิดสั้นฆ่าตัวตาย ทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น
     
       3.ด้านอารมณ์และจิตใจ
              ความเครียดทำให้อารมณ์สับสน หงุดหงิดโมโหง่าย วิตกกังวล มองโลกในแง่ร้าย และเมื่อมีปัญหาทางด้านอารมณ์สะสมไปนานๆ เข้า ก็จะส่งผลโดยตรงต่อสภาวะทางด้านจิตใจ ทำให้กลายเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านจิตประสาทได้ นอกจากนี้ ความเครียดยังทำให้ความสามารถทางด้านสติปัญญาทั้งในการแก้ปัญหาและทางด้านความจำลดลงอีกด้วย
     
        ดังนั้น เมื่อเรารู้แล้วว่าความเครียดส่งผลร้ายอย่างมากมายต่อตัวเราแล้ว หากเริ่มรู้สึกว่าตนเองเครียดก็วิธีกำจัดและคลายเครียดที่สามารถทำได้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ ดังนี้
     
       1.ระบายความในใจ
                 คือ การได้ปลดปล่อยอารมณ์ ความคิดและความรู้สึกออกมาภายนอก ผ่านการแสดงออกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
     
        - การพูด การที่เราได้พูดระบายความรู้สึกที่ขุ่นข้องหมองใจของเราเองกับคนสนิท เช่น คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง เป็นวิธีการคลายเครียดที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายลงแล้ว เราอาจได้รับคำแนะนำดีๆ ในการแก้ปัญหาชีวิตของเราจากคนที่รักและหวังดีกับเราก็ได้
     
        - การเขียน บางครั้งคนที่มีภาวะเครียดก็อาจไม่อยากพูดคุยกับใคร ดังนั้น อาจใช้การเขียนระบายความรู้สึกใส่กระดาษ ไดอารี หรือเดี๋ยวนี้บางคนก็เลือกที่จะแสดงความรู้สึกผ่านการเขียนทาง blog ทาง facebook ทาง club ใน webpage ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้ระบายความอัดอั้นแล้ว ยังอาจได้มิตรภาพหรือคำแนะนำดีๆ จากคนที่เราไม่เคยรู้จักก็เป็นได้
       

       2.ท่องเที่ยว 
            เมื่อเกิดความเครียด ไม่ควรเก็บตัวอยู่คนเดียวหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ วิธีแก้เครียดที่ได้ผลดีที่สุดอีกวิธีหนึ่ง ก็คือ การที่เราได้พาตัวเองออกไปพบเจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่ไม่จำเจ เช่น ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปดูนิทรรศการ ไปชมการแสดง ไปเดินเล่นสวนสาธารณะ ไปเดินดูข้าวของตามห้าง การที่เราได้ออกไปพบเจอสิ่งแปลกใหม่ๆ หรือได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติจะช่วยทำให้เรามีอารมณ์สดชื่น รู้สึกสนุกสนาน หายเหนื่อยล้าจากความเครียด


คำอธิบาย: http://www.manager.co.th/images/blank.gif
คำอธิบาย: http://www.manager.co.th/images/blank.gif
        3.ฟังเพลง 
             มีงานวิจัยมากมายที่สรุปตรงกันว่า การฟังดนตรีเป็นวิธีการคลายเครียดได้ดี แต่ให้เลือกบทเพลงหรือดนตรีที่มีลักษณะที่ช่วยคลายเครียดได้ดี เช่น เพลงบรรเลงแบบ Green Music คือ เพลงบรรเลงที่มีทำนองช้าๆ เบาๆ ที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น และมีเสียงธรรมชาติประกอบ เช่น เสียงน้ำไหล เสียงฝนตกเบาๆ เสียงนกร้อง ซึ่งจะช่วยทำให้คลายเครียดได้เป็นอย่างดีทีเดียว ช่วงเครียดไม่ควรเลือกฟังเพลงที่มีเนื้อหาทำร้ายความรู้สึก หรือจิตใจหรือเพลงที่มีทำนองดนตรีที่รุนแรงเพราะจะยิ่งทำให้เครียดมากขึ้นไปอีก

       

       4.ดูหนังดูละคร 
              ละคร หรือหนัง หรือรายการที่มีเนื้อหาเบาสมอง เช่น หนังตลก เกมโชว์ การ์ตูนเด็กๆ ช่วยทำให้ผ่อนคลายความเครียดได้ เพราะการได้ยิ้ม ได้หัวเราะ จะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา (เอนโดฟิน) ซึ่งจะไปช่วยให้อารมณ์ของเราสดชื่นและมีความรู้สึกเป็นสุขมากขึ้น
     
     

  5.ออกกำลังกาย
              การออกกำลังกายให้ประโยชน์หลายอย่างแก่เรา ทั้งให้ร่างกายแข็งแรง และกำจัดความเครียดได้ด้วย เพราะการออกกำลังทำให้เราหยุดนึกถึงเรื่องราวที่ทำให้เครียดและกังวลไปได้ชั่วขณะหนึ่ง และเมื่อใช้เวลากับการออกกำลังกายไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ความเครียดของเราค่อยๆ บรรเทาไปในที่สุด เพราะโดยปกติแล้วเมื่อคนเราเครียดกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายก็จะหดตัว ตึง และแข็ง ทำให้ไม่สบายกายด้วย เมื่อเราได้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่มันตึงอยู่นั้นก็จะคลายลง ทำให้รู้สึกสบายและมีความสุข จึงขอแนะนำว่าควรออกกำลังกายเบาๆ ไม่ควรออกกำลังกายเพื่อการแข่งขันหรือรุนแรงจนได้รับอันตราย เพราะนั่นอาจจะเป็นการเพิ่มความเครียดให้คุณอีกทางหนึ่งก็เป็นได้
       

       6.ทำงานอดิเรก 
            ส่วนใหญ่แล้วคนที่มีภาวะเครียดมักจะเป็นคนที่ต้องจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เช่น จดจ่อกับงาน กับลูก กับคนเจ็บป่วย กับหนี้สินและการเงิน กับสภาวะแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น การแก้เครียดจึงต้องละจากสิ่งที่จดจ่ออยู่นั้นไปให้ความสนใจกับสิ่งอื่นบ้าง โดยอาจหางานอดิเรกทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เช่น ทำงานศิลปะ ฝึกเล่นเครื่องดนตรี ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ไปนวดหน้านวดตัว แต่งห้องใหม่ งานอดิเรกเหล่านี้สามารถสร้างความสุขให้แก่เราได้ เพราะนอกจากจะทำให้เราเพลิดเพลินแล้ว การได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิตจะทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองด้วย
       

       7.ทำความดี 
             ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทานหรือทำการสงเคราะห์ เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความสงบสุขให้แก่จิตใจของเรา บางครั้งคนเราเกิดความเครียดเพราะการงานไม่สำเร็จตามเป้าหมาย หรือคิดว่าตัวเองด้อยค่าไม่มีสิ่งต่างๆ เหมือนคนอื่นเขา หรือถูกทำร้ายทางร่างกายหรือจิตใจมา การที่ได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นโดยเฉพาะทำกับคนที่เขาบกพร่อง เช่น คนพิการ คนยากจน คนไร้ญาติขาดมิตร ไร้ที่อยู่อาศัย จะทำให้เราได้เห็นมุมมองอื่นๆ ในชีวิตที่เราไม่เคยเห็นว่าไม่มีใครสักคนในโลกนี้ที่จะเกิดมาสมบูรณ์พร้อมหรือมีความสุขตลอดเวลา คนทุกคนย่อมมีปัญหาที่ต้องเผชิญและฝ่าฟันกันไปให้ได้ทุกคน ดังนั้น หากเครียดหรือมีปัญหาเมื่อใดก็ให้ทำความดีต่อผู้อื่นเพราะจะทำให้เกิดความสุขใจทั้งต่อตัวเราและต่อคนที่เราทำดีด้วย
     
        ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ดังนั้น อย่ากลัวที่จะเครียด แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกว่าเราเครียดแล้วก็ควรต้องรีบที่จะควบคุมและหาทางเอาความเครียดออกไปจากชีวิตของเราให้ได้อย่างเร็วที่สุด เพราะมันไม่มีประโยชน์กับเรามีแต่จะยังให้เกิดโทษต่างๆ ตามมามากมาย จงเข้มแข็งและอย่ายอมแพ้มัน เมื่อคุณเอาชนะมันได้แล้วพื้นที่ความสุขในชีวิตของคุณจะกลับคืนมา